10 กฎการปั่นจักรยานในญี่ปุ่น ..รู้ก่อนปลอดภัยก่อน …หากใครมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วไม่เห็นจักรยาน ถือว่ายังมาไม่ถึงนะคะ ด้วยระบบขนส่งรถไฟอันทันสมัยและทั่วถึง ดังนั้นคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงเลือกการเดินทางโดยรถไฟเป็นหลัก โดยมี “จักรยาน” (Jitensha,自転車) ที่เป็นตัวเชื่อมเส้นทางจากบ้านถึงสถานีรถไฟ ที่ถือได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นไปเสียแล้ว ด้วยความที่สะดวกเคลื่อนตัวง่าย, ประหยัดพลังงานไม่ต้องใช้น้ำมัน และก็ยังถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ไปในตัวอีกด้วยค่ะ และที่สำคัญคือ ที่ญี่ปุ่นจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อผู้ใช้จักรยานไม่ว่าจะเป็น เลนสำหรับจักรยานปั่นโดยเฉพาะ, มีที่จอดรถจักรยานเตรียมไว้บริการสำหรับผู้ใช้จักรยานตามจุดขึ้นลงรถไฟฟ้า และตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีจักรยานให้เช่าอีกด้วยค่ะ
ในส่วนของกฎ ระเบียบ และข้อปฏิบัติ ก็ต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎแบบเป๊ะ ๆ ด้วยเช่นกัน อาจจะมีแค่คนกลุ่มน้อยที่แตกแถวไม่ทำตามระเบียบ ซึ่งจะว่าไปก็มีทุกที่ล่ะค่ะ เพียงแต่ว่าที่ญี่ปุ่น อาจจะไม่ค่อยได้เห็นเท่านั้นเอง ที่ญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ โดยไม่ได้เน้นแค่เฉพาะตัวเอง ปลอดภัยเท่านั้นนะคะ ความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ ก็สำคัญด้วยเช่นกันค่ะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนต่างชาติแบบเราด้วยแล้ว ถ้ามีโอกาสได้เช่าจักรยานปั่นในญี่ปุ่น หรือมีโอกาส ได้มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเราก็มาเรียนรู้กฎ กันสักนิด …รู้ไว้จะได้ปั่นอย่างถูกต้อง และไม่ผิดกฎค่ะ เอ้า…ไปอ่านกันเลยดีกว่าค่ะ
1.รถจักรยานทุกคันในญี่ปุ่นจะต้องมีทะเบียนจักรยาน
จักรยานที่ญี่ปุ่นทุกคันต้องมีทะเบียนจักรยาน และจะต้องลงทะเบียนตอนที่ทำการซื้อ เพื่อสะดวก ต่อการแจ้งหาย หรือ ถูกขโมย และที่จักรยานนั้น ๆ จะมีสติ๊กเกอร์ติดแจ้งเลขทะเบียนเอาไว้ และผู้ที่ เป็นเจ้าของ จะได้รับสมุดทะเบียนของจักรยานมาเก็บไว้ด้วย เพื่อใช้ยืนยัน แสดงความเป็นเจ้าของ แก่เจ้าหน้าที่เมื่อจักรยานหาย หรือ ใช้ติดต่อรับจักรยานคืนกรณีโดยยึดจักรยาน
2.เช็คให้ชัวร์ก่อนว่าที่พักมีที่จอดจักรยานแน่นอนไหม เพราะคุณอาจต้องแบกขึ้นไปเก็บบนห้องพัก
ก่อนทำการซื้อจักรยาน ต้องแน่ใจก่อนว่ามีที่จอดจักรยานเพราะที่พักอาศัยบางแห่งมีข้อกำหนดในการจอดจักรยาน อาจจะให้จอดเพียงห้องละ 1-2 คัน หรืออาจจะไม่อนุญาตให้จอดจักรยานก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เราจะต้องแบกจักรยานเข้าไปเก็บยังห้องพักของเรา ถ้าที่พักมีลิฟท์ก็ถือว่าโชคดีค่ะ แต่บางที่ไม่มีนี่สิ ถือว่าออกได้กำลังกายเช้าเย็นเลยล่ะค่ะ และที่พักบางแห่งอาจจะต้องเสียค่าเช่าที่เพื่อจอดจักรยานในที่พักอาศัยด้วย
3.ต้องจอดจักรยานในที่จอดจักรยานเท่านั้น
ข้อนี้อ่านให้ดีเพราะสำคัญที่สุดค่ะ! ที่จอดจักรยานในญี่ปุ่นจะมีทั้งแบบให้บริการจอดได้ฟรี และแบบที่ต้องเสียเงิน ซึ่งก็มีทั้งแบบหยอดเหรียญนับเป็นชั่วโมง และแบบเหมารายวันราคาจะอยู่ที่ประมาณ 80 เยน – 210 เยน ต่อวัน (ราคาแล้วแต่สถานที่) สำหรับคนที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นก็สามารถจ่ายค่าเช่าที่จอดรถจักรยานเป็นแบบรายเดือน ก็จะถูกกว่าแบบรายวันค่ะ
แต่ถ้าจอดจักรยานนอกเหนือจากบริเวณที่กำหนดเอาไว้ (แอบจอด) ก็อาจจะได้ใบเตือน ดังภาพกระดาษสีแดง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจและสแกนเลขทะเบียนเก็บไว้เป็นข้อมูล ในครั้งแรกก็อาจจะได้ ใบเตือนมาก่อนว่า คุณจอดผิดที่นะ อาจจะโดนเสียค่าปรับได้ แต่ถ้ายังทำผิดซ้ำอีก ๆ ได้ใบเตือนมากกว่า 2 ครั้ง ทางสำนักงานเขต ก็จะทำการยกจักรยานไปเลยค่ะ และถ้าหากต้องการได้จักรยานคืนจะต้องนำเงินไปเสียค่าปรับยังที่เก็บจักรยาน ของเขตนั้น ๆ ซึ่งค่าปรับก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเขตจำนวนเงินไม่เท่ากันค่ะ จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 เยน – 6,000 เยน (จักรยานคันใหม่ราคาถูก ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 8,500 เยน ++) ค่าปรับโหดร้ายไม่ใช่น้อยเลยค่ะ เพิ่มเงินอีกนิดได้คันใหม่แล้ว!!
4.ไม่ควรบีบแตร หรือ สั่นกระดิ่งไล่คนที่เดินอยู่ด้านหน้า
ถึงจะมีทางสำหรับจักรยานที่แบ่งให้ชัดเจนก็จริง แต่สำหรับถนนบางเส้นเราอาจจะต้องใช้ร่วมกับคน ที่เดินบนฟุตบาทด้วยเช่นกันค่ะ ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปบีบแตร หรือ สั่นกระดิ่งไล่ เพราะคนเดินทางเท้า อาจจะตกใจแล้วเกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ ถ้าลองสังเกตกันดูอาจจะไม่ค่อยเห็นผู้ขี่จักรยานปั่นแซงกันไปมามากสักเท่าไร ยกเว้นถ้ารีบจริง ๆ ก็อาจจะหันมาขอบคุณ หรือกล่าวคำขอโทษกันก่อน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ขี่จักรยาน และคนเดินทางเท้า ผู้ขี่จักรยานก็ควรต้องให้ทางแก่คนที่เดินเท้ามาก่อนเสมอ และที่สำคัญก็ไม่ควรปั่น ด้วยความเร็วด้วยค่ะ
5.ห้ามนั่งซ้อนท้ายจักรยาน
หนุ่มสาวคู่ไหนอยากมาสวีทซ้อนท้ายจักรยานปั่นที่ญี่ปุ่นบอกเลยว่าดับฝันไปเลยค่ะ หุหุ เพราะหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่นี่ ถ้าจีบกันใหม่ ๆ ก็มักจะจูงจักรยานเดินคุยกันงุ๊งงิ๊งแทนค่ะ ก็เพราะความปลอดภัยและง่ายต่อการทรงตัว ของผู้ขี่จักรยาน ถ้าลองสังเกตกันดูดี ๆ จะไม่ค่อยเห็นคนซ้อนจักรยานกันมากเท่าไร แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับ จักรยานคุณแม่ที่มีที่นั่งสำหรับเด็กซึ่งถ้าเป็นจักรยานแบบนี้เด็ก ๆ ก็สามารถนั่งซ้อนด้านหน้า หรือซ้อนด้านหลังได้ค่ะ สำหรับจักรยานคุณแม่ส่วนใหญ่จะเป็นจักรยานไฟฟ้าที่มีเครื่องทุ่นแรงช่วยให้คุณแม่ปั่นได้ง่ายขึ้น และแน่นอนค่ะ ก็ต้องมาพร้อมกับราคาที่แรงกว่ารุ่นธรรมดาอีกด้วย ส่วนเด็ก ๆ ที่นั่งจักรยานมากับแม่ก็จะมีอุปกรณ์เช่นหมวกนิรภัย สวมใส่กันเอาไว้ถึงจะไม่มีกฎว่าต้องสวมใส่ แต่ก็นะ..อย่างที่บอกค่ะปลอดภัยไว้ก่อนเสมอ
*** สำหรับข้อต่อไปจากนี้จะเป็นสาระสำคัญที่สำคัญจริง ๆ สำหรับคนที่ใช้จักรยานที่ญี่ปุ่นควรต้องปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าทำผิดหรือฝ่าฝืนอาจจะมีสิทธิ์โดนปรับโดนจับ หรือ อาจจะทั้งจำทั้งปรับกันเลยทีเดียวค่ะ**
6.ห้ามคุย ห้ามเล่นโทรศัพท์มือถือขณะปั่นจักรยาน
ห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับการปั่นจักรยานไป คุยโทรศัพท์ไป หรือ ปั่นจักรยานไปเล่นโทรศัพท์มือถือไป เพราะ อันตรายสุด ๆ นอกจากผู้ขับขี่จะไม่มีสมาธิและไม่ระวังแล้ว อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งตัวเองและผู้อื่นได้ ถ้าฝ่าฝืนจะโดนปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นเยน (~15,000บาท)
7.ห้ามกางร่มไปปั่นจักรยานขณะฝนตก
เมื่อฝนตก ไม่ว่าจะเป็นทัศนวิสัย สภาพอากาศ และถนนหนทางก็ลื่นและไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย ๆ การบังคับรถจึงควรต้องใช้ความระมัดระวังให้มากกว่าเดิม และถ้าใช้มือเพียงข้างเดียวในการจับ แฮนด์จักรยาน และอีกมือหนึ่งก็ใช้ถือร่มแล้วปั่นจักรยานไปด้วยจะทำให้การทรงตัว และการบังคับจักรยาน เป็นไปได้ยากและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูง จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะสวมชุดกันฝนหรือไม่ก็ติดตั้งอุปกรณ์ ที่สามารถล็อกก้านร่มยึดติดไว้กับจักรยาน โดยที่มือไม่ต้องถือร่มถ้าเป็นอุปกรณ์แบบนี้ก็จะปลอดภัยค่ะ แต่ถ้าฝ่าฝืนก็จะ โดนปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นเยน (~15,000บาท)
8.ต้องเปิดไฟส่องสว่างช่วงกลางคืน
เมื่อปั่นจักรยานในยามค่ำคืนจักรยานทุกคัน ย้ำ!!! ว่าทุกคันจะต้องมีไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และของผู้อื่นด้วยถ้าไม่มีไฟติดที่จักรยานหรือมีแล้วแต่ไม่เปิดไฟก็มีโทษนะคะ เรื่องนี้เคยเห็นกับตาว่าคุณตำรวจ จะเรียกมาตักเตือนในครั้งแรก แต่ถ้าเจอหลาย ๆ ครั้งก็อาจจะโดนปรับได้ค่ะ ซึ่งโทษปรับสูงสุด ไม่เกิน 5 หมื่นเยน (~15,000บาท)
9.ต้องหยุดทุกครั้งเมื่อเห็นป้ายหยุด “โทมาเระ 止まれ STOP”
ถ้าเจอป้ายสามเหลี่ยมสีแดง “โทมาเระ 止まれ STOP” ที่มีความหมายว่า “หยุด” ในเขตโตเกียวบางที่ ก็เริ่มเพิ่มภาษาอังกฤษเข้าไปในป้ายด้วยแล้วนะคะเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวมาเยือนโตเกียวในช่วงโอลิมปิก2020 แต่ตามต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้เปลี่ยนค่ะ ป้ายโทมาเระมักจะถูกติดตั้งใน จุดยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น คน จักรยาน และ รถยนต์ ทุกคนควรจะต้องหยุด มองซ้าย มองขวา แล้วค่อยไปค่ะ ถ้าไม่หยุดรถและฝ่าฝืนจะโดนปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นเยน (~15,000บาท) และอาจจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรืออาจจะโดนทั้งจำ ทั้งปรับเลยค่ะ
10.เมาไม่ปั่นนะจ๊ะ..ถ้าโดนจับเสียค่าปรับทีล้มละลาย
ในบรรดากฎทุกข้อที่กล่าวมา สำหรับข้อนี้ถือว่าร้ายแรงมาก ๆ ค่ะ ถ้าเมาแล้วปั่นจักรยานจะโดนปรับ 1 ล้านเยน (~300,000 บาท) และอาจจะถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ อาจจะโดนทั้งจำ ทั้งปรับเลยค่ะ คุณพระ!!! นี่แค่จักรยานนะคะ ถ้าเป็นรถยนต์ไม่อยากจะคิดว่าโทษจะหนักขนาดไหน… โหดสลัดรัสเซียมากค่ะ ถึงว่าช่วงเย็นวันศุกร์ มักจะเห็นคนยอมจ่ายค่าจอดจักรยานค้างคืนหรือไม่ก็เดินจูงจักรยานกันกลับบ้านแทน เพราะกฎหมายเค้าแรง แบบนี้นี่เอง
เอาจริง ๆ นะคะ ถ้าเมาแล้วปั่น หรือ เมาแล้วขับ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาคนที่จะโดนคาดโทษด้วยไม่ได้มีเพียงผู้ขับขี่ เท่านั้น ทั้งผู้ขายเครื่องดื่มให้ เพื่อนร่วมวงก็โดนข้อหาไปด้วยค่ะ เพราะถือว่า สมรู้ร่วมคิด ! รู้ว่าเพื่อนขับรถมา ทำไมไม่ห้ามไม่ให้เพื่อนดื่ม หรือรู้ว่าลูกค้าขับรถมาทำไมถึงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ … อย่างนี้ที่ญี่ปุ่นถึงได้มี เครื่องดื่มเบียร์แบบไม่มีแอลกอฮอล์ออกมาจำหน่าย เพื่ออยากให้การเข้าสังคมเป็นไปได้อย่างราบรื่น และไม่มีอุบัติเหตุมาให้กังวลใจนั่นเอง
ได้อ่านกฎ 10 ข้อของการปั่นจักรยานที่ญี่ปุ่นแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่าบทความนี้คงจะทำให้หลาย ๆ คนกระจ่างใจและเห็นความจริงจังในเรื่องกฎระเบียบวินัยของการปั่นจักรยานของคนญี่ปุ่นบ้างไม่มากก็น้อยและ หวังว่าคงจะได้นำข้อคิด สิ่งดี ๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันนะคะ ..ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
👉 ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook Youtube Instagram