นอกจากเรื่องเที่ยวแล้ว เรื่องกินเราก็ต้องไม่พลาดเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะนักชิม แบบชาวเราแล้วล่ะก็ คุณมาถูกทางแล้ว เพราะว่าบทความนี้ จะพูดเกี่ยวกับ ของกินล้วน ๆ โดยเฉพาะของกินที่ Oshino Hakkai (忍野八海) หรือ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “หมู่บ้านน้ำใส” นั่นเองค่ะ
อย่างที่เกริ่นไปว่าเราจะมาเม้าท์มอยกันเรื่องของกินเน๊อะ ดังนั้นจะไม่พูดเกี่ยวกับสถานที่มากนัก สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเกี่ยวกับรีวิวสถานที่สามารถไปอ่านได้ที่ บทความนี้ ค่ะเราได้เขียนรีวิวเอาไว้แล้วจ้า
มาเข้าประเด็นของกินกันเลยละกันค่ะ เพราะระหว่างทางเดินไปยังบ่อน้ำในหมู่บ้านน้ำใส ก็จะแวดล้อมไปด้วยร้านขนม, ร้านอาหารต่าง ๆ มากมาย ใครที่เป็นสายชิมแบบไม่ได้กินจริงจัง ที่ชอบแวะชิมกินจุ๊บจิ๊บ กินเล่น ๆ ระหว่างทางบอกเลย ฟินมากเวอร์ เริ่มเลยนะคะ ลุยจ้า!
1.Soft Cream องุ่น
มาถึงแหล่งของนางแล้วต้องลองจ้า เพราะองุ่นเป็นสินค้าเกษตร OTOP ชื่อดังของจังหวัดยามานาชินั่นเอง ดังนั้นไอศกรีมรสชาติองุ่นซึ่งใช้องุ่นสายพันธุ์ Kyoho (巨峰ぶどう) สีม่วงดำมาทำเป็นซอฟต์ครีมนี้ค่ะ บอกเลยว่าต้องลองค่ะ รสชาติเหมือนกินน้ำองุ่นเลย ไร้ซึ่งความเป็นนม หวานอมเปรี้ยว ใครที่ชอบรสชาติแบบนี้คือ ฟินมากจริง ๆ ค่ะ
2.ยากิคุสะโมจิ (焼き草餅)
ยากิคุสะโมจิ หรือโมจิย่างไส้ถั่วแดง ที่เห็นเขียวๆ ไม่ใช่ชาเขียวนะคะ แต่เป็นหญ้า สมุนไพรที่มีชื่อว่า “โยโมงิ” (よもぎ) ของขึ้นชื่อของที่นี่เลยค่ะ กินตอนร้อน ๆ คืออร่อยมากค่ะ แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบก็จะไม่ชอบเลย เพราะจะมีกลิ่นของสมุนไพร นิด ๆ ใครอยากลองเรียนเชิญค่ะ
3.ยากิอิโมะ (焼き芋)
ยากิอิโมะ (焼き芋) หรือ มันหวานญี่ปุ่นย่าง ใครเป็นสายมันหวานญี่ปุ่น อยู่แล้ว ต้องไม่พลาด ราคาอาจจะแรงนิดนึง ก็ตามแหล่งท่องเที่ยวอ่ะเน๊อะ ครึ่งลูก 300 เยน แต่ก็ไซส์ใหญ่อยู่นะ กินร้อน ๆ คือดี
4.มิฟุกุดังโกะ (三福団子) หรือ โมจิเสียบไม้ย่าง
มิฟุกุดังโกะ หรือโมจิเสียบไม้ย่าง เป็นโมจิที่มี 3 ลูกเสียบไม้ย่าง พร้อมซอสต่าง ๆ ให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นโชยุ, ถั่วแดง, ซอสถั่ววอลนัทมิโสะ หรือใครชอบแบบ รสชาติธรรมชาติ ไม่ราดอะไรเลยก็มีขายด้วยเช่นกันค่ะ
5.เนื้อวัวเสียบไม้ย่าง (Gyu kushi yaki,牛串焼き)
มาที่ของคาวกันบ้าง สำหรับสายเนื้อย่าง ลองมากินกันค่ะ กับเนื้อวัวเสียบไม้ ย่างรอ้น ๆ ที่ราดมาด้วยซอสบาร์บีคิว จริง ๆ ก็สามารถเลือกได้นะคะ ว่าจะย่างเกลือ หรือ ซอสบาร์บีคิว ไม้ละ 500 เยนค่ะ แต่ถ้าซื้อ 3 ไม้ 1,300 เยนราคาก็จะถูกลงนิดนึงค่ะ
6.ลูกชิ้นชิกุวะ ร้านมารุเต็น (まる天)
ลูกชิ้นปลาที่มาในรูปและรสชาติที่หลากหลายมาก ๆ ร้านนี้คิวยาวสุดแล้ว และรสชาติก็อร่อยด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น กุ้งมายองเนส , ทาโกะยากิ, ปลาหมึกกับหอย ฯลฯ ส่วนตัวที่เจ้ชอบคือกุ้งมายองเนสค่ะ ได้ความมัน หวาน อร่อย ฟินมากเวอร์
7.ชาเขียวรสพีช
เป็นชาเขียวที่ชงได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น มีความหวาน หอมของกลิ่นพีช ใครที่ชอบชาผลไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาลองค่ะ เพราะทางร้านก็มีให้ชิม กันด้วยนะคะ หนึ่งกล่องมี 8 ซอง ราคา 650 เยน ในโตเกียวหาซื้อค่อนข้างยาก แต่ถ้าชอบแนะนำว่าให้ซื้อเลยค่ะ เพราะเท่าที่เจ้รู้มีขายที่นั่นที่เดียว
8.คงโจะยากิ ( 根性焼き)
คงโจะยากิ หรือ ขนมโอบังยากิ ไส้ถั่วแดงและเกาลัด ขนมประเภทนี้บางคน ก็เรียกว่า โอบังยากิ หรือไม่ก็ อิมากาวะยากิ (今川焼き) เป็นขนมญี่ปุ่น มักจะพบได้ตามเทศกาลของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำจากกะทะพิเศษ มีหลากหลายไส้ ให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น Azuki หรือไส้ถั่วแดงบด, ไส้คัสตาร์ดวานิลลา ไส้มันหวานญี่ปุ่น, ไส้ช็อกโกแลตฯลฯ แต่สำหรับร้านนี้มีไส้เดียวค่ะ คือไส้ถั่วแดงสอดไส้เกาลัด อร่อย หวาน หอม ฟินมาก ชิ้นเดียวอิ่มยาว อิอิ
9.องุ่น
องุ่น เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัด Yamanashi จะเห็นได้ว่าขนมของฝากจากจังหวัดนี้จะมีองุ่นเป็นส่วนผสมเสียส่วนใหญ่ อย่างเช่นซอฟต์ครีมที่กล่าวไปข้างต้น ไวน์, พายกรอบ ฯลฯ แต่สำหรับคนที่อยากลองชิมผลไม้ที่เป็นองุ่นเลย ที่ Oshino Hakkai ก็มีจำหน่ายด้วยค่ะ ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกชิมกัน ไม่ว่าจะเป็น Shine Mascat (シャインムスカット) องุ่นไร้เมล็ดสีเขียวที่จะมีจำหน่ายช่วงมิ.ย. – ต.ค. , Kyoho (巨峰ぶどう) องุ่นสีม่วงดำเม็ดใหญ่ มีจำหน่ายช่วง ส.ค. – พ.ย. ฯลฯ ใครชอบแบบไหนก็หาลองชิมกันได้ค่ะ
นอกจากนี้ยังมีร้านค้าขายขนมของฝากที่อยู่ภายใน Oshino Hakkai ที่เป็นอีกหนึ่งจุดที่จะให้เพื่อน ๆ ได้ช้อปปิ้งกันด้วยค่ะ เพื่อน ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกนะคะ เพราะว่าร้านนี้มีพนักงานเป็นคนไทยคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ค่ะ
การเดินทาง :
นั่งรถไฟหรือรถบัสมาลงที่สถานี Kawaguchiko แล้วนั่งรถไฟต่อไปอีกสถานีเพื่อไปลงที่สถานี Fujisan และจากสถานีนี้เราสามารถนั่งรถบัส Fujikyuko Yamanashi Bus หมายเลข 1 เป็นรถบัสสีเขียว ให้สังเกตว่าเป็นรถบัสที่วิ่งไป Yamanakako – Asahigaoka ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็จะถึงป้ายรถบัส Oshino Iriguchi
Route bus :
พิกัดจาก Google map:
ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook Youtube Instagram
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.