เที่ยวแบบชิล ๆ ถ่ายรูปเช็กอิน จะไปฟินอะไร เพื่อนๆ ลองมาทำกิจกรรมกับคนท้องถิ่นดูค่ะ รับรองว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ทำให้เพื่อน ๆ ไม่มีวันลืมเลยค่ะ

เจ้ได้ไปลองทำกิจกรรมที่เรียกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต อย่างเช่น การทำกระดาษสาญี่ปุ่น หรือ วาชิ กับอาร์ตทิสต์ผู้ที่เป็น Traditional crafts man แห่งเมืองทาเตยามะ, ได้แปลงโฉมเป็น มิโกะ Miko สาวผู้ช่วยในศาลเจ้า ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่สาว ๆ ญี่ปุ่น หากใครเคยดูอนิเมชั่นเรื่อง Your Name ก็คงจะนึกภาพออกที่นางเอกของเรื่องก็เป็น มิโกะด้วยเช่นกัน และอีกหนึ่งกิจกรรมที่เจ้ กับอปลุงเหนื่อยมาก ๆ แต่ก็สนุกสุด ๆ นั่นก็คือ “การปั้นเซรามิก” งานปั้นแก้วที่มาพร้อมกับความคิดใส่ใจถึงผู้ใช้ ประสบการณ์ดี ๆแบบนี้ หาไม่ได้ง่าย ๆ หากใครอยากตามรอยพวกเราก็ลุยเลยค่ะ

 

ใครขี้เกียจอ่านชมคลิปได้ที่นี่ค่ะ

 

1. “วาชิ” โรงงานทำกระดาษสาโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น

ถ่ายภาพกับอาจารย์ Kawahara เป็นที่ระลึกหน่อยค่ะ

กระดาษสาญี่ปุ่นหรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “วาชิ” ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีกรรมวิธี ในการผลิตที่แตกต่างกัน สำหรับสถานที่ที่เจ้ได้ไปลองทำกระดาษอยู่ที่เมือง ทาเตะยามะ จังหวัดโทยาม่า มีชื่อว่า “Kawahara Seisakusyo” โดยอาจารย์ Takakuni Kawahara ผู้ซึ่งได้รับรางวัล Traditional Crafts man และรางวัลอื่น ๆ การันตีมากมาย และท่านยังได้ไปจัดแสดงโชว์ผลงานที่ต่างประเทศ เช่น ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังได้ผลิตกระดาษที่เบาที่สุดในโลก ขนาด 1 เมตรน้ำหนักเพียง 2 กรัม ว้าวมากค่ะ

กระดาษที่เบาที่สุด สุดยอดไปเลยค่ะ

นอกจากนี้ครอบครัวของอาจารย์ Takakuni Kawahara ก็ยังเป็นศิลปินผู้สร้างผลงานให้แก่ เมืองทาเตยามะด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นภรรยาของท่าน Shakunaga Yo ที่เป็นศิลปินปั้นเซรามิก และคุณพ่อของภรรยา Shakunaga Yukio ก็ยังเป็นศิลปินผู้ที่ผลิตผลงานเซรามิกจน สตีฟ จ๊อบ เห็นแล้วถูกจริตติดใจติดต่อมาเพื่อให้ท่าน ผลิตผลงานให้ … ว้าวมากค่ะ

ภรรยาของอาจารย์ ก็เป็นศิลปินปั้นเซรามิกเช่นกัน

 

คุณพ่อของภรรยาอาจารย์ ก็ระดับปรมาจารย์เลยทีเดียวค่ะ

 

เอาล่ะค่ะ โรงงานทำกระดาษสาญี่ปุ่นที่ว่านี้ ตั้งอยู่ในเมืองทาเตะยามะ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีการปลูกวัตถุดิบเอง ให้บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติร่มรื่นมาก ๆ ค่ะ บริเวณโดยรอบก็ยังมีการปลูกข้าว 15 สายพันธุ์ไว้กินกันเองอีกด้วยค่ะ สำหรับการทำกระดาษสาญี่ปุ่นวัสดุหลักที่ใช้ก็คือ “เปลือกไม้” ของต้นไม้ที่มีชื่อว่า “Kozo” ที่มีคุณสมบัติเด่นคือ เนื้อสัมผัสที่ได้จะไม่เรียบ แต่มีความแข็งแรง และเส้นใยมีความยาว ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปทำงานศิลปะ, ประตู นอกจากเปลือกไม้ของต้น Kozo แล้ว ก็ยังมีส่วนผสมที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งก็คือ รากไม้ของต้น Tororo aoi (Sunset Hibicus tree) ซึ่งจะมีความข้น เหนียว เป็นวัสดุสำคัญอีกหนึ่งชนิด ในการผลิตกระดาษสาของญี่ปุ่น เลยก็ว่าได้ค่ะ

หน้าตาของต้น Kozo ต้นเล็ก ๆ อยู่ในกระถางก่อนนำไปลงดินปลูก

ต้น Kozo ที่นำเปลือกไม้มาทำกระดาษสา

ต้น Kozo จะปลูกจนได้ความสูงประมาณ 3 – 4 เมตร ก็จะตัดลำต้นเพื่อนำมาทำกระดาษ แต่ยังคงเหลือราก ของต้นไม้ไว้เช่นเดิมเพื่อให้ต้นไม้เติบโตต่อไป ส่วน Tororo aoi เป็นต้นไม้ที่ปัจจุบันในญี่ปุ่นปลูกกันน้อย ซึ่งต้นนี้ก็จะออกดอกด้วยเช่นกัน ดอกของต้น Tororo aoi สามารถนำมากินได้ เมื่อดอกบานแล้วก็จะมีอายุเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งลองชิมแล้วไม่มีรสชาติใด ๆ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวของผัก ถ้าใครมีโอกาสมาญี่ปุ่น เจอแล้วอยากให้ลองค่ะ รสชาติเป็นอย่างไรแวะมาเล่าให้ฟังด้วยนะคะ ส่วนรากที่นำมาใช้ในการทำกระดาษ ก็นำมาแช่น้ำใช้ส่วนเหนียว ๆ หนืด ๆ มาเป็นส่วนผสมค่ะ

รากของ Tororo Aoi นำมาแช่น้ำก็จะได้น้ำเหนียว ๆ หนืด ๆ สีใส ๆ ที่จะใช้เป็นส่วนผสมของการทำกระดาษ

รากไม้ Tororo Aoi หน้าตาเป็นแบบนี้เองค่ะ

ต้น Tororo Aoi และดอก ซึ่งดอก Tororo Aoi สามารถกินได้ กลีบดอกเด็ดกินได้เลยค่ะ

หน้าตาของต้น Tororo Aoi

 

ดอกจะเป็นสีเหลืองแบบนี้ ถ้าบานแล้วจะมีอายุอยู่ได้แค่วันเดียว ต้องเด็ดแล้วนำไปกินได้ค่ะ

 

ชิมแล้ว ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีรสชาติด้วยค่ะ เด็ดปุ๊บกินเลย ปราศจากสารเคมี ดี๊ดี

ขั้นตอนการทำกระดาษ

เริ่มจากการต้มเปลือกไม้

แล้วนำมาแช่น้ำไว้ในบ่อน้ำนี้

จากนั้นก็นำเยื่อไม้ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วนำมาทุบเพื่อให้เนื้อไม้ยุ่ย

 

เนื้อเปลือกไม้จะเป็นตามภาพ

หลังจากนั้นก็นำเนื้อไม้ที่ทุบแล้วมาละลายในน้ำเพื่อในเยื่อไม้กระจายตัว

ตรงจุดนี้เองก็จะนำรากของต้น Tororo aoi ที่แช่น้ำมากรองแล้วก็นำน้ำที่ได้จากการกรองผสมลงไปในอ่างผสม อีกทีหนึ่ง

กรองเอารากไม้ออกแล้วจะเหลือแต่น้ำข้น ๆ เหนียว ๆ สีใส ๆ

หลังจากนั้นก็นำถาดสำหรับทำกระดาษมาตักน้ำที่แช่รากไม้ แล้วเอียงซ้าย ขวา ขึ้นลง เพื่อให้ได้ความหนา ของกระดาษเท่ากันทำซ้ำ 2 – 3 รอบ

ดูเหมือนจะง่ายนะคะ ทำเองจริง ๆ ถาดนี่หนักมากค่ะ

หลังจากนั้นก็นำแผ่นรองไม้ที่วางไว้บนถาดคว่ำกระดาษลงบนผ้าที่เตรียมไว้ หากทำหลาย ๆ แผ่น สามารถวางทับซ้อนกันไปได้เลย

หากต้องการเพิ่มลาย เนื้อสัมผัสลงไปในกระดาษก็ทำตั้งแต่ขั้นตอนนี้ได้เลย จากในภาพคือการสลัดน้ำเพื่อให้กระดาษมีลายจุด ๆ

เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำไฮโดรลิกแจ็กมาวางทับ เพื่อให้มีน้ำหนักมาก ๆ และบีบน้ำออกให้หมด

แล้วจึงค่อยนำกระดาษที่ได้มาลอกออกทีละแผ่น

แล้วนำไปตากยังแท่นสแตนเลสที่มีอุณหภูมิประมาณ 60 – 70 องศา เพื่อให้กระดาษแห้งในเวลา 20 นาที ก็เป็นอันเสร็จ แล้วค่ะ

จะเริ่มเห็นลายของกระดาษแล้ว

 

เสร็จแล้วค่ะ กระดาษสาญี่ปุ่น ได้ลายจุดตามที่ต้องการสมใจ

 

ถ่ายรูปบริเวณโรงงาน มาเป็นที่ระลึก

 

เพื่อน ๆ ร่วมทริป พร้อมโชว์ผลงานการทำกระดาษของตัวเอง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม :

วาชิ (washi) เป็นกระดาษที่ผลิตจากเส้นใยพืชเป็นวัตถุดิบหลัก และทำขึ้นเองด้วยมืออย่างประณีต นอกจากนั้นยังมีลักษณะเด่น คือความบาง ทนต่อน้ำ และมีคุณสมบัติเป็นกลาง ทำให้เสื่อมสลายได้ยาก โดยปกติกระดาษทั่วไป จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 100 ปี ซึ่งกระดาษญี่ปุ่นว่ากันว่ามีอายุการใช้งานถึง 1000 ปี จากจุดดีของคุณสมบัติพิเศษนี้ จึงถูกนำไปใช้ในหอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์สถาน เพื่อเป็นวัสดุที่ช่วยในการฟื้นฟู ซ่อมแซม และเก็บรักษาภาพวาด หรือหนังสือกวีนิพนธ์โบราณ และรวมถึง เครื่องราง ยันตร์ ด้วยค่ะ

 

2. Miko experience

แปลงโฉมเป็น Miko มิโกะ สาวผู้ช่วยในศาลเจ้าญี่ปุ่น ซึ่งอาชีพนี้กำลังเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่สาว ๆ ญี่ปุ่นที่มาสมัครทำงานพิเศษกันค่อนข้างเยอะ โดยมิโกะ มีหน้าที่ในการเป็นผู้ช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ของศาลเจ้า เช่น จำหน่ายเครื่องราง, ผู้ช่วยในการประกอบพิธีแต่งงาน, นางรำในงานประจำปีหรือเทศกาลที่สำคัญ ๆ ของศาลเจ้าเป็นต้น โดยมากมิโกะจะเป็นสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน

เซ็ตเสื้อผ้าสำหรับมิโกะ

บริเวณภายในศาลเจ้าโอยามะ

 

โดยเครื่องแต่งกายจะเป็นชุดฮากามะ ที่เสื้อเป็นสีขาวและกระโปรงเป็นสีแดง มีอุปกรณ์ก็คือ พัด หรือ กระดิ่ง ซึ่งที่เมืองทาเตยามะก็มีกิจกรรม สร้างประสบการณ์ให้กับสาว ๆ ได้แปลงโฉมเป็นมิโกะด้วยนะคะ ส่วนเจ้ได้ลองใส่แล้วรู้เลยค่ะว่า ชุดทำให้เราสำรวมขึ้นมาก ๆ เลยทีเดียวเชียวค่ะ 555

 

เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วก็สามารถเดินไปยังบริเวณศาลเจ้า Oyama Shrine, Kyosanbo สวนสไตล์ญี่ปุ่น ที่จัดสวนเอาไว้อย่างสวยงาม หรือจะเดินยาวไปยังบริเวณ Nunohashi สะพานสีแดงก็ได้นะคะ สะพานสีแดงก็ได้นะคะ ที่นี่จะเป็นสถานที่ผู้หญิงประกอบพิธีชำระจิตและกายให้บริสุทธิ์โดยจะมีงานทุก ๆ 3 ปี ไว้รายละเอียดแต่ละสถานที่ ที่กล่าวมาจะแวะมารีวิวให้ฟังอีกครั้งค่ะ

 

สถานที่อยู่ที่ : ใกล้กับศาลเจ้า Oyama Shrine

 

3. Etchu Setoyaki Poettery : Pottery Making Experience

Etchu Setoyaki Poettery หรือการปั้นเซรามิก ซึ่งเป็นศิลปะแบบญี่ปุ่นโบราณที่ส่งต่อกันมายาวนานถึง 400 ปี การปั้นแก้ว ปั้นจาน ชาม ไม่ได้มีแค่ดินดี น้ำดีเท่านั้นนะคะ โดยน้ำจากภูเขาทาเตยามะนี่ก็ถือว่า เป็นน้ำที่สะอาด และบริสุทธิ์เช่นกันค่ะ นอกจากนี้ก็ยังต้องมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นใดเลยก็คือ “ความใส่ใจ” ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เจ้และอปลุงได้ทำแก้วน้ำใบเดียว และใบแรกของโลก 555 ซึ่งได้ลองทำแล้วก็รู้สึกว่า ยากมากค่ะ เพราะไม่ใช่งานที่ถนัดเอาซะเลย ตอนเด็ก ๆ ปั้นดินน้ำมันไม่เก่งก็เงี๊ยะ หุหุ

ภายในอาคารก็มีชิ้นงานเซรามิกของศิลปินผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ โชว์ไว้ด้วย หากใครถูกใจอยากจะซื้อ หรืออุดหนุนก็สามารถซื้อติดมือกลับไปเป็นของฝากได้เช่นกันค่ะ

ท่านอาจารย์ Shakunaga Yukio ผู้ผลิตผลงานเซรามิกให้แก่ สตีฟ จ็อบ

 

ผลงานของศิลปินในเมืองทาเตยามะ

 

ทุกชิ้นจำหน่ายนะคะ ใครชอบชิ้นไหนจัดกันได้เลย

 

ถ้วยน้ำจิ้มกระจุกกระจิก ราคาไม่แพง ฝีมือดีด้วยค่ะ

 

บริเวณภายในโถงแสดงผลงาน

บรรยากาศภายในห้องทำเซรามิก อาจารย์ได้ทำการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับงานปั้นแก้วในวันนี้

อุปกรณ์ที่ใช้การในการปั้นเซรามิก

อุปกรณ์ตกแต่งพิมพ์ลาย สำหรับการทำเซรามิก

หลังจากได้ฟังอาจารย์สอนวิธีการปั้นให้แล้ว ก็ถึงเวลาลงมือปั้นแก้วของตัวเองได้แล้ว ดูอาจารย์ทำเหมือนง่าย แต่พอมาลองทำเองแล้ว โอ้โห… ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลยแฮะ!

นวด ๆ คลึง ๆ งานนี้ไม่ยาก และก็ไม่ง่ายค่ะ

จุดนี้ก็สำคัญ ใช่ว่าดินดี น้ำดีอย่างเดียวนะคะ คนทำต้องละเอียดใส่ใจด้วยค่ะ

 

ที่จับแก้วยากมากมายค่ะ เพราะต้องดูขนาดให้เหมาะกับมือผู้ใช้

 

พิมพ์ลายลงบนแก้ว ตามแต่ใจต้องการค่ะ

 

เสร็จแล้วค่ะ

จากกิจกรรมในครั้งนี้ก็ ได้รับ แง่คิดดี ๆ จากอาจารย์ที่สอนทำแก้วน้ำด้วยนะคะ การทำแก้วน้ำดื่ม ไม่ใช่มีแค่ดินที่ดี กับน้ำที่ดีเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคนที่จะนำไปใช้งานด้วยว่า เค้าจะสามารถใช้แก้วน้ำนั้นได้ดีแค่ไหน ผู้ใช้สะดวกสบายไหม ปากแก้วจะให้สัมผัสอันนุ่มเนียนหรือเปล่า เมื่อเทน้ำแล้วน้ำจะซึมออกจากก้นแก้วไหม หู จับจะพอดีกับ ขนาดมือของคนถือไหม ความใส่ใจระดับเทพสุด ๆ

 

หากเพื่อน ๆ สนใจอยากมีประสบการณ์ทำกิจกรรมทั้ง 3 ไม่ว่าจะเป็นการทำกระดาษสา, การแต่งตัวเป็นมิโกะ (Miko) และปั้นเซรามิก ก็สามารถติดต่อไปที่ e-mail : tateyamakk@hyper.ocn.ne.jp หรือโทรศัพท์ (81) 76-462-1001

ย้อนอ่าน : แอลป์เจแปนในวันที่หิมะละลาย และ 5 สถานที่ต้องแวะเมื่อมาทาเตยามะ

 

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook Youtube Instagram Twitter

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.