4 สิ่งต้องรู้ ก่อนไปเที่ยวโอกินาว่า
วันนี้จะขอแนะนำ 4 สิ่งที่ควรรู้ ก่อนไปเที่ยวที่โอกินาว่าค่ะ โอกินาว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในภูมิภาคคิวชู เป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ห่างออกมาจากเกาะหลักฮอนชู มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีทะเลที่สวยงาม และยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกเพียบเลย และที่สำคัญยังมีความเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยด้วยนะคะ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ ถ้าเพื่อน ๆ พร้อมกันแล้วตามไปอ่านกันค่ะ เที่ยวญี่ปุ่นครั้งต้องไปจะได้ไม่พลาด.. ลุยเลย
ชมคลิปเที่ยวโอกินาว่าได้ที่นี่
1.ปราสาทชูริ (首里城公園) มรดกโลกของชาวโอกินาว่า
ปราสาทชูริ (首里城公園 ) เป็นปราสาทที่เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์หลังการรวมแผ่นดินเป็นอาณาจักรริวกิว และผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านศึกสงคราม รวมถึงไฟไหม้มานักต่อนัก จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในฐานะของปราสาทริวกิว (Ryukyu Kingdom) โดยเฉพาะฐานเดิมของตัวปราสาทที่ยังคงเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าตัวปราสาทจะได้รับการบูรณะสร้างขึ้นใหม่ครั้งล่าสุดในปี 1992 ก็ตาม และก่อนที่จะถูกเพลิงไหม้ในวันที่ 31 เดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา แต่ตัวฐานปราสาทก็ยังโครงสร้างดั้งเดิมที่เป็นมรดกโลกนั้นก็ยังคงไม่สูญหายไปไหน
จากเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 31 เดือน ต.ค. ปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้อาคารหลักของปราสาทชูริได้ถูกทำลายลง และแผนเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมตัวอาคารโบราณหลักที่ถูกไฟไหม้นั้น มีเป้าหมายที่จะให้แล้วเสร็จในปี 2026 ซึ่งบริเวณโดยรอบ ณ.ปัจจุบันนี้ก็สามารถเข้าชมได้เช่นกันค่ะ
ประตูชูเรมง ภาพที่ปรากฏในธนบัตรใบละ 2,000 เยน
ประตูชูเรมง (守礼門) เป็นซุ้มประตูที่ทุกคนจะผ่านเข้าออกปราสาทชูริต้องผ่านประตูแห่งนี้ และยังเป็นจุดที่บุคคลสำคัญต่ออาณาจักรริวกิวต้องผ่านเช่น นายพลเพอร์รี่ (Matthew Calbraith Perry) ผ่านเพื่อขอเข้าพบกษัตริย์ของอาณาจักรริวกิว และกองทัพญี่ปุ่นก็เดินทางผ่านประตูนี้เพื่อขอยุบอาณาจักรริวกิวให้เหลือเพียงจังหวัดโอกินาว่าในปี 1879 ซึ่งประตูดั้งเดิมได้ถูกทำลายในช่วงสงคราม แต่ประตูที่เห็นกันในปัจจุบันเป็นประตูที่สร้างจำลองขึ้นมาใหม่ค่ะ
นอกจากนี้ ประตูชูเรมงยังเป็นไฮไลท์ฮอต พิกัดฮิต สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องแวะมาเช็กอินเพราะเป็นประตูที่ปรากฏอยู่ในธนบัตรใบละ 2,000 เยน ซึ่งแตกต่างจากธนบัตรอื่น ๆ ที่จะต้องมีภาพของบุคคลสำคัญปรากฏอยู่บนธนบัตร ซึ่งธนบัตรฉบับละ 2,000 เยนนี้ได้มีการผลิตและประกาศใช้ในปี 2000 ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการประชุม G8 Summit หรือการประชุมสุดยอดของผู้นำในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในเดือนกรกฎาคม ที่จังหวัดโอกินาว่า ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีการใช้มากในจังหวัดโอกินาว่า ใครมาเยือนแล้วหาโอกาสแลกเก็บไว้เป็นที่ระลึก และอย่าลืมแวะมาถ่ายภาพคู่กับประตูกันด้วยนะคะ
อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
พอเดินลอดกำแพงมาแล้วเราจะเห็นซุ้มประตูหิน ที่นี่เป็นจุดที่ใช้สวดมนต์ขอพรก่อนที่ราชวงศ์จะออกเดินทางไปนอกปราสาท ก็จะต้องมาสวดมนตร์ขอพรให้เดินทางปลอดภัยกันที่จุดนี้
กำแพงเก่า และความโค้งที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน
กำแพงรอบ ๆ ปราสาทชูริ ถ้าเราสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างหินที่นำมาสร้างกำแพง โดยหินที่อยู่ด้านล่างจะเป็นหินเก่าดั้งเดิมที่ไม่ถูกทำลาย ส่วนหินที่อยู่ด้านบนเป็นหินใหม่ที่นำมาสร้างเพิ่มเติม เสน่ห์ของกำแพงที่ปราสาทชูริก็คือ ความโค้ง ความมีขอบ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน
ว่ากันว่าภายในปราสาทชูริก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ การตกแต่งศิลปะต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ว่ากันว่ารูปปั้นมังกรทั้งหมด 33 จุดเลยทีเดียว ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคงเห็นซากของมังกรที่หลงเหลือจากเพลิงไหม้ไว้เป็นอนุสรณ์ด้วยค่ะ
Great Dragon column เสาหินแกะสลักรูปมังกรคู่ สัญลักษณ์ของปราสาทชูริ
Great Dragon Column เสาหินแกะสลักรูปมังกรคู่ เป็นสัญลักษณ์ประจำปราสาทชูริ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งได้ถูกเก็บเอาไว้เพื่อซ่อมแซมบูรณะต่อไป ไกด์เล่าให้พวกเราฟังว่า มังกรเป็นเหมือนตัวแทนของกษัตริย์ที่อยู่คู่กับปราสาทชูริ เสาหินมังกรคู่นี้มีความพิเศษคือมีนิ้ว 4 นิ้วค่ะ ไม่เหมือนกับมังกรที่จีนที่มี 5 นิ้วเพราะในสมัยก่อนกษัตริย์ของอาณาจักรริวกิวมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน และให้ความนอบน้อม เคารพกับประเทศจีนจึงทำมังกรให้มีเพียงแค่ 4 นิ้วเท่านั้น
ถุงสีดำ ๆ ที่เห็นกันนั้นเป็นกระเบื้องที่พังเสียหายจากเพลิงไหม้ ที่เจ้าหน้าที่รวบรวมเก็บเอาไว้ในแต่ละจุด
ทางระบายน้ำเราจะเห็นหินรูปมังกรแบบดั้งเดิม ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ชมกันจนถึงทุกวันนี้
หากเดินมาด้านในแล้ว เราจะสามารถชมวิวเมืองได้แบบ 360 องศา มองเห็นวิวรอบ ๆ ของปราสาทได้อีกด้วย
ความสนุกของการเที่ยวชมปราสาทชูริก็คือ การเดินตามหาหินรูปหัวใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮอตฮิตมาก ๆ เวลาที่ไปเยือนปราสาท คนท้องถิ่นกล่าวกันว่าหากเราหาเจอ แล้วราจะโชคดี สมหวังในความรัก
บางทีเราก็จะเจอการจัดตกแต่งด้วยมวลดอกไม้สวย ๆ เต็มพื้นที่ไปหมด
สำหรับสายช้อปปิ้งก็อย่าลืมแวะชม ช้อปสินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกกันด้วยนะคะ แต่ละไอเทมดีงามมาก ๆ เลยล่ะค่ะ
เวลาเดินแล้วอากาศร้อน ๆ เพื่อน ๆ ก็อย่าลืมแวะชิมของอร่อยดับร้อน อย่างซอฟต์ครีมน้ำตาลทรายแดง ไอเทมขึ้นชื่อของจังหวัดโอกินาว่า และไอศกรีมเจลาโต้สับปะรด Gold Barrel ผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่อเช่นกัน
การเดินทาง :
โดยรถบัสประจำทาง (ประมาณ 40 – 60 นาที)
- หากใช้สายในเมือง #1, 14, 17 หรือสายระหว่างเมือง #46 ให้ลงที่ “Shurijō kōen iriguchi.” เดินไปประมาณ 5 นาทีก็จะถึงประตูชูเรอิมง (The Shureimon Gate)
- หากใช้สาย Shuri-jōkamachi (#7, 8) ให้ลงที่ “Shurijō-mae.” เดินไปประมาณนาทีเดียวก็จะถีงประตูชูเรอิมง
- หากใช้สายในเมือง #9, 13 หรือสายระหว่างเมือง #25, 97 ให้ลงที่ป้าย “Yamagawa” เดินไปประมาณ 15 นาทีก็จะถึงประตูชูเรอิมง
โดยโมโนเรล (ใช้เวลาประมาณ 50 นาที) ขึ้นสาย Yui Rail ที่สนามบินฮานะ และลงที่”สถานีชูริ (Shuri Station)” แล้วเดินอีกประมาณ 15 นาที
*ยังมีเส้นรถบัสประจำทาง สายชูริโจคามาชิ#8 ซึ่งวิ่งจากสถานีชูริ (ให้ลงที่ป้าย “ชูริโจ-มาเอะ” แล้วเดินไปประมาณ 3 นาทีก็จะถึงประตูชูริมง)
เว็บไซต์ : http://oki-park.jp/shurijo/en/
พิกัดจาก Google map:https://goo.gl/maps/swALoSVfbKkaMx8N6
2. เจาะเวลาหาอดีตที่หมู่บ้านริวกิว Ryukyu Mura แห่งโอกินาว่า
Ryukyu-mura Village หรือ หมู่บ้านริวกิว ที่นี่เป็นสวนสนุกที่สร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้ผู้ที่มาเยือนได้สัมผัสกับวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง และธรรมชาติของโอกินาว่า (Okinawa) ภายในสวนสนุกจะมีการจำลองหมู่บ้านดั้งเดิมของอาณาจักรริวกิวในสมัยก่อน บ้านแต่ละหลังจะมีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดง ล้อมรอบด้วยกำแพงหินที่มั่นคง ทนทานที่สามารถต้านทานพายุไต้ฝุ่นได้ บ้านที่จัดแสดงอยู่ภายในสวนสนุกแห่งนี้บางหลังก็มีอายุกว่า 200 ปี ที่ทางสวนสนุกได้จัดเก็บรวบรวมเอาไว้ให้ชมกัน
มีโซนที่รวบรวมบ้านโบราณในสมัยก่อนนำมาเก็บและเปิดโชว์ให้ชมกันภายในด้วยค่ะบางหลังอายุร้อยกว่าปี แต่ยังคงสภาพคงเดิมเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปยังอดีต
มีโซนสำหรับควายด้วย ให้กลิ่นอายคล้ายกับเมืองไทยมาก ๆ
นอกจากนี้ก็จะมีแสดงดนตรีและการร่ายรำพื้นเมืองของโอกินาว่า เราจะได้เห็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นเช่นกลองไทโกะ เครื่องสายของโอกินาว่าที่เรียกว่า ซันชิน (sunshin) ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆเป็นประจำทุกวัน และไฮไลท์ที่น่าสนใจก็คือ การจัดงานแสดงขนบประเพณีและงานเทศกาลโบราณต่างๆ
อย่างเทศกาล “ระบำเอซา” (Eisa Dance Parade Festival) เป็นการแสดงพื้นเมืองที่ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยชุดสีสันสดใส และร่ายรำอย่างงดงามไปพร้อมกับเสียงดนตรี ซึ่งที่หมู่บ้านริวกิวนี้จะมีการแสดงให้ชมได้ตลอดทั้งปีอีกด้วยจัดแสดงโชว์วันละ 4 รอบได้แก่ 10.30น., 12.00น., 14.00น. และ 15.30น. รับรองว่าหากมาเที่ยวที่นี่จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมริวกิว (Ryukyu) ได้อย่างเต็มอิ่มเลยทีเดียวค่ะ
เปิดประสบการณ์สวมใส่ชุด Bingata เครื่องแต่งกายพื้นเมืองของชาวโอกินาว่า ที่ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายพื้นเมืองที่มีสีสันสดใส เน้นไปที่สีสด ๆ เช่นสีแดง สีส้ม สีเหลือง ที่เรามักจะได้เห็นกันบ่อย ๆ โดยสีเหลืองตัดกับแดงเป็นสีที่ได้รับความนิยมที่สุดว่ากันว่าเป็นชุดที่ราชวงค์ใส่ดังนั้นใคร ๆ ก็จะเลือกสีนี้ค่ะ ค่าเช่าสวมชุดคนละ 1,000 เยนจะได้รับรูปถ่ายหนึ่งรูป แต่ถ้าเราอยากจะใส่ชุด Bingata เดินไปทั่วสวนสนุกก็ทำได้ค่าเช่า 2,000 เยนในเวลา 1 ชม.ค่ะ
ชีซ่า (Shisa) สัตว์มงคลของชาวโอกินาว่าที่มีรูปร่างผสมผสานกันระหว่างสุนัข และสิงโตผสมกัน โดยเป็นสัตว์มงคลที่เรามักจะพบเห็นได้ตามสถานที่ทั่วไปในโอกินาว่า โดยชีซ่านั้นนิยมวางคู่กันไว้ที่ประตูบ้าน หรือบางที่ก็อยู่บนหลังคาบ้านด้วย ชีซ่าคู่ จะมีความแตกต่างกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้นั้นจะอ้าปาก ส่วนตัวเมียนั้นจะหุบปาก ซึ่งก็มีความเชื่อว่าถ้านำไปวางไว้ที่บ้านจะต้องวางตัวเมียไว้ด้านซ้าย และวางตัวผู้ไว้ด้านขวา เพื่อที่จะได้ปกปักษ์รักษาคุ้มครองคนในบ้าน การที่ชีซ่าตัวผู้อ้าปากก็เพื่อทำหน้าที่ขับไล่วิญญานชั่วร้ายให้ออกไป ในขณะที่ตัวเมียหุบปากเอาไว้เพราะต้องการเก็บแต่งสิ่งดี ๆ ที่เป็นมงคลเอาไว้นั่นเอง
เปิดประสบการณ์เพ้นท์ ชีซ่าสัตว์มงคลของโอกินาว่า โดยการเพ้นท์ตุ๊กตา 1 ตัวนั้นมีค่าใช้จ่าย 1,800 เยน ซึ่งเราสามารถวาดลวดลายของชีซ่าที่มีตัวเดียวในโลกได้เป็นกิจกรรมที่สนุกและใคร ๆ ก็ทำได้ค่ะ
ค่าเข้าชม: 1,500 เยน (โซนทำกิจกรรม เช่าชุดบิงกะตะ และเพ้นต์ตุ๊กตาชีซ่า เข้าฟรี)
เวลาเปิด-ปิด: 8:30-17:30(เข้าก่อน 17:00)
วันปิดทำการ: เปิดทุกวัน
การเดินทาง: จาก Naha โดยสารรถบัสหมายเลข 120 ลงที่ Ryukyu Mura-mae bus stop(จาก Naha Bus Terminal 80 นาที 1,070 เยน หรือจาก Naha Airport 90 นาที 1,160 เยน บัสออกชั่วโมงละ 2 รอบ)
เว็บไซต์ : https://www.ryukyumura.co.jp/en/official/
พิกัดจาก Google map: https://g.page/Ryukyumura?share
3.เหล้าอาวะโมริ Chuko Distillery ตำนานเหล้าแห่งโอกินาว่า
หากจะกล่าวว่า “เหล้าอาวะโมริ” เป็นเหมือนทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย กับ โอกินาว่า ก็คงจะไม่ผิด เพราะเหล้าอาวาโมริมีมาแต่สมัยราชวงศ์ริวกิว เป็นเหล้ากลั่นท้องถิ่นที่มีตำนานกว่า 600 ปี ที่ถือว่าเป็นเหล้ากลั่นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ในจังหวัดโอกินาว่ามีโรงกลั่นเหล้าถึง 46 แห่งในปัจจุบัน หัวใจสำคัญในการผลิตเหล้าอาวะโมริก็คือ “ข้าวไทย” (ข้าวเจ้า) และยีสต์ดำโดยทั้งคู่จะทำปฏิกิริยาให้ได้เหล้ากลั่นอาวะโมริที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กล่าวกันว่าในช่วงศตวรรษที่ 14 -16 อาณาจักรริวกิวมีการซื้อขายต่างชาติอย่างจีน และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังกล่าวอีกว่า เทคนิคการกลั่น วิธีการ เครื่องมือต่าง ๆ ก็มีการซื้อขายกับเมืองสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) อีกด้วย จนในปี 1470 จึงได้ถือกำเนิดเหล้าต้นแบบอาวาโมริในโอกินาว่า ในและยุคเอโดะเหล้าอาวาโมริได้ถูกใช้เป็นของกำนันที่เป็นตัวแทนของราชวงศ์ริวกิวที่จะมอบให้แก่ โชกุน, ทูตต่างประเทศและใช้ในกิจการงานบันเทิงเป็นต้นมา
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นวัตถุดิบหลักในการกลั่นเหล้าอาวะโมริจะมีการใช้ข้าวไทย (ข้าวเจ้า) หรือที่เรียกว่า idica rice ข้าวทรงรี เรียว เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต กับยีสต์ดำ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการกลั่นเหล้าอาวาโมริ โดยยีสต์ดำสามารถผลิตกรดซิตริกได้เป็นจำนวนมาก และทำปฏิกิริยาได้ดีกับข้าวไทยในภูมิอากาศร้อนชื้นแบบจังหวัดโอกินาว่า จึงทำให้ทั้งสองเป็นวัตถุดิบหลักที่เข้ากันได้อย่างลงตัว เสน่ห์ของเหล้าอาวาโมริก็คือ ยิ่งหมักไว้นานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีกลิ่นหอมหวาน และให้ความรู้สึกกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น เหล้าอาวะโมริที่เก็บไว้นาน 3 ปี จะเรียกว่า “คุสุ” ค่ะ
นอกจาก “ข้าวไทย” ที่เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตเหล้าอาวาโมริแล้ว เมื่อกลั่นเหล้าอาวาโมริเสร็จแล้วก็จะต้องนำมาบ่มให้หม้อดินเผาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ถือเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่ส่งต่อถึงกันมาหลายร้อยปี โดยมีการใช้เตาเผาที่มีชื่อว่า Nanban Arayaki ที่นำเข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้นั้นไม่ได้ผ่านการเคลือบใด ๆ แต่เป็นการใช้ไฟเผาเพื่อให้ดินมีความแน่นและแข็งแรง ซึ่งเป็นเทคนิคในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบ่มเหล้าอาวะโมริของ Chuko Distillery เลยล่ะค่ะ
โดย “เครื่องปั้นดินเผา” ที่ว่านี้จะที่ใช้ดิน 2 ชนิดมาผลิต ซึ่งที่นี่ได้ใช้ดิน Shimajiri Jahgaru จากทางภาคใต้ของโอกินาว่า และ Ryukyu Red Soil จากทางภาคเหนือของโอกินาว่ามาเป็นส่วนผสมทำเครื่องปั้นดินเผา ที่มีจุดเด่นคือ ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร และเครื่องดื่ม และลดระยะเวลาการเก็บเหล้าโดยใช้เวลาเพียงไม่นานก็ให้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อม ถ้าเทียบกันระหว่างขวดแก้วกับหม้อดินเผานั้น หม้อดินเผาจะทำให้ลดระยะเวลาการบ่มได้เร็วกว่าขวดแก้ว 1.6 เท่า
เรือนไม้ที่ใช้ในการบ่มเหล้าของ Chuko Distillery มีการปรับปรุงใหม่ซึ่งมีอายุกว่า 20 ปีแล้ว แต่เหล้าที่อยู่ภายในก็มีอายุกว่า 30 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยถังเหล้า 18 ถังเทียบเท่ากับเหล้าจำนวน 25,000 ขวด, คุสุ 450,000 ขวด และยังมีหม้อดินเผาที่ใช้บ่มเหล้า 800 ใบ ก่อนที่จะนำเหล้าอาวะโมริไปวางขาย ทางโรงงานจะทำการเช็กรสชาติเหล้าที่บ่มไว้ภายในโรงไม้นี้ก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้เหล้าที่บ่มก่อนวางจำหน่ายก็ใช้เวลา 7 ปี ถ้ารสชาติได้ที่แล้วทางโรงงานจึงจะนำไปวางจำหน่าย
วัฒนธรรมเหล้าอาวาโมริกับคนท้องถิ่นโอกินาว่า ถือเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติกันก็คือ เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้าน ก็มักจะสั่งเหล้าอาวาโมริในวันที่ลูกเกิด แล้วเก็บเอาไว้จนลูกอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็จะให้เหล้าอาวะโมริขวดนั้นเป็นของขวัญ หรือเปิดดื่มเพื่อเฉลิมฉลองกัน โดยทางโรงงานเหล้าอาวาโมริ ก็มีบริการรับฝากเก็บรักษาเหล้านี้ด้วย เพราะเหล้าอาวะโมริ ยิ่งนานปี รสชาติยิ่งดี เค้าว่ากันอย่างนั้นนะคะ
นอกจากเหล้าอาวะโมริ จะเป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นของจังหวัดโอกินาว่าแล้ว ยังได้มีการนำเหล้าอาวะโมริมาดองกับพริกเพื่อเป็นเครื่องปรุง ที่มีชื่อเรียกว่า “ชิมะโทการาชิ” (島唐辛子) ซึ่งคนท้องถิ่นจะนำไปปรุงเพิ่มกับเมนูต่างๆ เช่น โซบะ ราเมน ฯลฯ ส่วนตัวได้ลองแล้วรสชาติไม่เผ็ดอย่างที่คิด มีกลิ่นของเหล้า และรสชาติของซุปเมื่อปรุงเพิ่มลงไปจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องปรุงที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาว่าเลย
เว็บไซต์ : https://www.chuko-awamori.com/lang/en/index.php
พิกัดจาก Google map: https://goo.gl/maps/7GA15ahi3CB1xgNB7
4.ศาลเจ้า Naminoue Shrine (Naminouegu) ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวโอกินาว่า
ศาลเจ้า Naminoue (Naminoue Shrine) เป็นศาลเจ้าที่มีความสำคัญที่สุดของจังหวัดโอกินาว่า และยังเป็น 1 ใน 8 ศาลเจ้าใหญ่ในจังหวัดโอกินาว่า ที่ตั้งอยู่ในเมืองนาฮะ (Naha City) โดยทำเลที่ตั้งนั้นอยู่บนหน้าผา ณ บริเวณที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการสวดภาวนาอธิษฐานต่อเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่ ณ อาณาจักรเจ้าสมุทรโพ้นทะเลมาแต่ครั้งโบราณ
ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่นิยมมาขอพรในเรื่องการทำธุรกิจ กิจการการค้าให้สำเร็จ รุ่งเรือง และยังเป็นที่นิยมสำหรับมาขอพรให้พ้นเคราะห์ พ้นภัย เดินทางปลอดภัยอีกด้วยค่ะ
ใครที่ชอบเครื่องราง ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ก็มีเครื่องรางเด่น ๆ หลายชิ้นเลยที่เราสามารถเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับไปได้ตามความปรารถนาตั้งแต่ เดินทางปลอดภัย ขอพรความรัก ธุรกิจ การเรียน ฯลฯ
ตัวศาลเจ้าตั้งอยู่บนเขา จะต้องเดินบันไดขึ้นไปด้านบนนะคะ พอไหว้พระขอพรเสร็จเรียบร้อยแล้วอย่าลืมแวะมาเดินเล่นชมวิวที่ด้านล่าง ซึ่งอยู่ติดทะเลมีชื่อว่า Naminoue beach ซึ่งคนท้องถิ่นก็มานอนอาบแดด มานั่งปิกนิค และมาเล่นน้ำทะเลกันที่นี่ด้วยค่ะ
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : ในอดีตศาลเจ้า Naminoue เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวเมือง โดยเฉพาะชาวเรือที่เข้าออกจากท่าเรื่อนาฮะ (Naha Port) มักจะแหงนหน้าหันไปมองยังศาลเจ้าที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงเพื่ออธิษฐานขอพร และขอบคุณศาลเจ้า Naminoue ซึ่งท่าเรือแห่งนี้ในอดีตก็เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนการค้าขายกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน, เกาหลี, ประเทศศทางตอนใต้ และชาวญี่ปุ่นในยุคโบราณที่มีชื่อเรียกว่า ชาวยามาโตะ นั่นเองค่ะ
ในสงครามแปซิฟิก ศาลเจ้า Naminoue ได้รับความเสียหายจากการรบในโอกินาว่า (Battle of Okinawa) เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูในเวลาต่อมา และปัจจุบันนี้ศาลเจ้า Naminoue ก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาชินโตในจังหวัดโอกินาว่า
การเดินทาง: จากสนามบินนาฮะ (Naha Airport )โดยสารรถยนต์ ใช้เวลา 10 นาที หรือจากใจกลางเมือง Naha เดิน 15 นาที
เว็บไซต์ : http://naminouegu.jp/english.html
พิกัดจาก Google map: https://goo.gl/maps/j16Wjf9YarrxYyp18
ชมคลิปรีวิวโรงแรมที่โอกินาว่า
ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวโอกินาว่าได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.visitokinawa.jp/?lang=th/
Facebook: https://ja-jp.facebook.com/visit.okinawa.th/
Instagram:https://www.instagram.com/visitokinawajapan/
ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook Youtube Instagram Twitter
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.