สาวลาว บ่าวไทย เกษตรกรไทย ในญี่ปุ่น จาก 0 ถึง ล้าน ทำได้อย่างไร
วันนี้พวกเราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ คุณลุงศตพลชาวไทย และ คุณป้าศรีสอาด ชาวลาว คู่รักวัย 60 ต้น ๆ เกษตรกรไทยในญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นจากการปลูกผักไทยไว้กินเอง ลองผิดลองถูก ครูพักลักจำ นำมาปรับปรุง พัฒนาต่อยอด เริ่มต้นจากศูนย์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนตอนนี้กลายมาเป็น “ไร่ศตพล” ผู้ผลิตผักไทย ส่งขายในญี่ปุ่น และยังเป็นตลาดขายผักเคลื่อนที่ จนสื่อใหญ่ในญี่ปุ่นให้ความสนใจและมาสัมภาษณ์ เรื่องราวของคุณลุงศตพลและคุณป้าศรีสอาด จะมีอะไรน่าสนใจไปชมกันค่ะ
ใครขี้เกียจอ่าน ชมคลิปได้ที่นี่ค่ะ
ก่อนจะมาเป็น ไร่ศตพล ฟาร์มผักไทยในญี่ปุ่น
ก่อนที่จะไปนั่งคุยกันกับคุณลุงคุณป้านะคะขอเกริ่นให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันก่อนคุณลุงศตพล หรือลุงตั้ม เดิมเป็นคนจังหวัดอุทัยธานี อดีตแรงงานหนุ่มที่มาทำงานในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1992 และได้มาตกหลุมรักกับคุณป้าศรีสอาด สาวชาวลาวผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีนในปี 1985 ก่อนทำสวนคุณป้าเป็นพยาบาลทำงานที่เมือง Tsukuba ในจังหวัด Ibaraki ทั้งสองท่าน พบรักกันโดยการแนะนำของหลานสาวคุณป้า และทั้งสองได้ตกลงใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่ปี 2004 มาจนถึงทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของการทำสวนผักไทย
คุณลุงและคุณป้า เริ่มต้นทำไร่ศตพลจากการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แล้วผักที่ปลูกได้มีจำนวนเยอะเกินไป คุณลุงก็นำไปแจกจ่ายให้เพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ ได้กินกัน ด้วยผักที่งาม ผลผลิตมีคุณภาพดี จนคนที่ได้รับผักไปบอกว่าปลูกเอามาขายก็ได้นะ จะได้เงินค่าปุ๋ย ค่าแรงบ้าง และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณลุงได้ลองเริ่มขายผักในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงาน โดยตอนแรกคุณลุงขับรถนำผัก ไปขายยังร้านอาหารไทย สโตร์ไทยที่รู้จักกัน ซึ่งจะออกขายอาทิตย์ละ 2 วัน ใช้เวลาช่วงกลางคืนหลังเลิกงาน พอทำไปประมาณครึ่งปี ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี คุณลุงเล็งเห็นว่าถ้าเพิ่มวันขายให้มากขึ้น รายได้ก็น่าจะเพียงพอและไม่ต้องอดนอนและต้องตื่นเช้าตรู่จากการทำงานประจำด้วยด้วย เพราะคุณลุงต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปทำงานประจำ ดังนั้นคุณลุงจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาปลูกผักทำสวนอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการเช่าพื้นที่ปลูกผักจากคนญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีการปลูกผักไทยในญี่ปุ่นมากเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าแบบแช่แข็ง ดังนั้น ผักที่ปลูกและจำหน่ายสด ๆ ประกอบกับคุณภาพผักที่ดีจากสวนผักของคุณลุง จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “ไร่ศตพล” ที่เรารู้จักกันค่ะ
คุณลุงเคยช่วยที่บ้าน ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว สมัยตอนที่อยู่เมืองไทย ก็พอจะมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรมาบ้าง แต่ก็ไม่เคยไปเรียนจริง ๆ จัง ๆ อาศัยครูพักลักจำ จากประสบการณ์ที่ได้ผ่านไปพบเจอ ลองผิด ลองถูก กับการปลูกผักไทยในสภาพอากาศที่ไม่เหมือนประเทศไทย มีการใช้ผ้าพลาสติกมาคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้น คุณลุงบอกว่า “ถึงฝนไม่ตก ผักก็ไม่ตาย” การเรียนรู้จากส่ิงที่เกิดขึ้นจริงลองหาวิธีต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพอากาศ อย่างเช่น การนำเชือกมาขึงกับต้นพริก เพื่อป้องกัน ลมฝน ลมพายุ ที่ญี่ปุ่นจะมีหน้ามรสุมในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. (แล้วแต่ปี) ก็จะทำให้ต้นพริกไม่หัก ไม่ล้ม คุณลุงปลูกต้นพริกเป็นแนวยาว เว้นทางเดินไว้ให้สำหรับการเข้าไปเก็บพริกได้อย่างสะดวก เป็นต้น แม้ในปี ๆ หนึ่งจะปลูกผักได้ไม่ตลอดทั้งปี โดยมากจะปลูกตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงปลายเดือน ตุลาคม แต่คุณลุงก็มี Green House ที่เป็นตัวช่วยในการเพาะเมล็ด และปลูกผักในยามที่อากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว โดยใช้เทคโนโลยีและความรู้แบบชาวสวนญี่ปุ่นเข้ามาช่วย อีกทั้งยังมีห้องเย็นที่ช่วยเก็บรักษาผลผลิตที่เก็บได้ ให้ยังคงความสด และยืดอายุให้บริโภคกันได้อีกยาวนาน
ในช่วงเริ่มต้น คุณป้าเองก็ยังคงทำงานประจำ และทำร้านอาหารอยู่ ยังไม่ได้ลงมาช่วยคุณลุงทำสวนผักเต็มตัว แต่พอสวนผักที่ทำเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณลุงก็เลยบอกให้คุณป้าลาออก และมาช่วยกันทำสวนผัก มาช่วยกันขายดีกว่าทั้งคุณลุงและคุณป้า นอกจากจะปลูกผักไทยเพื่อจำหน่ายในทุกวันแล้ว ช่วงกลางคืนตั้งแต่ วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ คุณลุงและคุณป้าก็นำผักขึ้นรถเพื่อออกไปขายในเมืองโตเกียวด้วย โดยลูกค้า 80% เป็นคนไทย นอกจากนี้ก็ยังมีคนญี่ปุ่น คนจีน คนเวียดนาม และคนอินเดีย ด้วย สินค้าที่จำหน่ายไม่ได้มีเพียงแค่ผักที่ปลูกอย่างเดียวเท่านั้น ก็ยังมีเครื่องปรุงไทย อาหารแช่แข็งอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน คุณป้าบอกว่า ขายผักอย่างเดียวบางครั้งมันดูไม่น่าสนใจ การที่นำสินค้าอื่น ๆ เข้ามาเสริมด้วยก็จะทำให้เกิดความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของลูกค้า
ในช่วงวิกฤตโควิด คุณลุงคุณป้าไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่นัก กลับสวนกระแสกับตลาด เพราะเนื่องจากคนไม่ได้ออกจากบ้านไปข้างนอก และหันมาทำอาหารกันเองมากขึ้น เลยทำให้ยอดขายผักไม่ได้ตกลงไปจากก่อน เพียงแต่ว่าจะมัวรอให้ลูกค้ามาหาที่ฟาร์ม ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เราต้องออกไปหาลูกค้าเอง บางคนก็โทรสั่ง บางคนก็สั่งผ่าน facebook ทางฟาร์มก็ส่งสินค้าไปทางไปรษณีย์
ผักชี ไฮไลท์ของสวนผักไทยในญี่ปุ่น
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ผักชี” ได้กลายมาเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ที่เรามักจะได้เห็นเมนูตามร้านอาหารที่เน้นผักชีเป็นส่วนประกอบ และรวมถึง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ก็มักจะมีรสชาติ ผักชี ออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกัน เลยส่งผลให้ ผักชีไทย ได้รับความนิยมในท้องตลาดนั่นเอง และผักชีที่ได้บริโภคกันในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็มาจาก “ไร่ศตพล” ซึ่งคุณลุง คุณป้า ได้พาพวกเราไปชมแปลงผักชี ที่ปลูกไว้เกือบ 2 ตัน ในแต่ละวันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 100 กิโลกรัม ความต้องการผักชีในญี่ปุ่นมีมากจนบางครั้ง คุณลุง คุณป้า ก็ไม่สามารถส่งผลผลิตได้ทันก็มี
พริกแดงจินดาเผ็ดเหมือนกินที่เมืองไทย
ถ้านึกถึงอาหารไทย ต้องนึกถึง “พริก” ดังคำกล่าวที่ว่า “อาหารไทย ไม่เผ็ด ก็ไม่อร่อย” ก็คงจะจริง ช่วงที่พวกเราไปเยี่ยมชมไร่ศตพล เป็นช่วงที่พริกกำลังออกผลพอดี ปีนี้พริกมีมากจนคนเก็บ เก็บไม่ทัน คุณลุงเล่าให้ฟังว่า พริกที่ปลูกเพื่อจำหน่ายมีทั้งพริกแดง และพริกเขียว ซึ่งพริกเขียว เป็นที่นิยมของลูกค้าชาวอินเดีย ปากีสถาน มาก ๆ เพราะเวลาที่มาขอซื้อพริกจะซื้อเฉพาะพริกสีเขียวเท่านั้น ดังนั้น พริกที่คุณลุงจำหน่ายก็ไม่ได้มีแค่ พริกแดง อย่างเดียว มีพริกเขียวด้วย ซึ่งที่ไร่ศตพลจะปลูกพริกได้ถึงแค่ ปลายเดือน ตุลาคมเท่านั้น หลังจากนี้ไม่สามารถปลูกได้เพราะอากาศหนาวเย็น
ถั่วฝักยาว ยิ่งเด็ด ยิ่งดก
ที่ญี่ปุ่นก็จะมีถั่วฝักยาวขายเหมือนกันซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า inken (いんげん) อาจจะคนละสายพันธุ์กับถั่วฝักยาวไทย ซึ่งความยาวมักจะไม่เกินหนึ่งไม้บรรทัด แต่ถ้าได้มาเจอถั่วฝักยาวไทยเชื่อว่า คนญี่ปุ่นต้องร้องว้าว โดยเฉพาะถั่วฝักยาวที่ไร่ศตพล คุณลุงบอกว่า “ยิ่งเด็ด ยิ่งดก” จนคนเก็บอาจจะร้องไห้ได้ เพราะเก็บไม่ทัน คุณลุง คุณป้า พาพวกเราไปเก็บกันสด ๆ เด็ดจากต้น ต้องบอกเลยว่า ถั่วฝักยาวจากไร่ศตพล อร่อย หวาน แม้คนไม่ชอบกินผักยังกินได้ค่ะ
ผักคะน้าไทย ความอร่อยอยู่ที่ “ความใส่ใจ”
คุณลุงคุณป้า พาพวกเราไปเก็บผักคะน้าสด ๆ ที่แปลงคะน้า ซึ่งตอนที่พวกเราไปถึง ผักคะน้ากำลังออกใบสวย ช่วงที่ไปนี้โชคดีหน่อยที่ว่า ดอกมาช้า ก็เลยเก็บง่าย ผักส่วนใหญ่ที่คุณลุงปลูกจะไม่ใส่ยาฆ่าแมลง บางใบอาจจะมีรูเพราะแมลงเจาะ แต่ก็กินได้อย่างสบายใจ ส่วนตัวพวกเราชอบกิน ผัดคะน้าหมูกรอบมาก ๆ ค่ะ แต่พวกเราก็ทำอาหารไม่ค่อยเก่งก็บ่นกับคุณลุงว่า “ถึงได้ผักดีกลับไป แต่คนผัดทำไม่ดีก็อาจจะไม่อร่อยก็ได้ค่ะ” แต่คุณลุงกลับพูดกับพวกเราว่าแค่ “ใส่ใจ” ผัดอะไรก็อร่อย …คำสั้น ๆ แต่ทำให้คนที่ทำอาหารไม่ได้เรื่องมีกำลังใจมาก ๆ เลย แถมยังได้คำสบทบจากคุณป้าที่ว่า ไม่ต้องปรุงรสอะไรแล้วนะ ใส่ใจ อย่างเดียวทำอะไรก็อร่อย ถือว่าเป็นคำคมเล็ก ๆ ที่คุณลุง คุณป้า พยายามจะสื่อว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแม้เราจะไม่ถนัด ขอแค่เพียง “ใส่ใจ” ลงไปสิ่งที่ได้ก็จะดีเอง
กะเพรา โหระพา ผักสุดฮอต ยอดฮิตที่ขายได้ไม่แพ้ผักชี
ผักที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นไม่แพ้กับผักชี ก็คือ “กะเพรา” เพราะเมนู ข้าวกะเพรากลายเป็นเมนูยอดฮิต ที่ร้านอาหารในญี่ปุ่นแม้จะไม่ใช่ร้านอาหารไทยแท้ ๆ ก็ยังได้ระบุลงในเมนูประจำร้าน เมนูข้าวกะเพราเป็นอีกหนึ่งเมนูที่คนญี่ปุ่นรู้จักในฐานะอาหารไทยด้วยค่ะ กะเพราในช่วงหน้าร้อนจะมีเยอะ ปลูกขึ้นได้ง่าย เพราะสภาพอากาศเป็นใจ แต่ในช่วงฤดูหนาวอาจจะปลูกยากสักหน่อยจนบางทีคุณลุงต้องสั่งจากโอกินาว่าเข้ามาจำหน่ายแทน
คุณลุงได้บอกเคล็ดลับการถนอมผักเก็บไว้ทานในช่วงฤดูหนาว ไม่ว่าทั้งกะเพรา หรือแม้แต่โหระพาก็ตามสามารถเก็บได้ตามวิธีนี้เลย ก็คือ ตัดใบ นำไปล้างให้สะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง หรือจะซับด้วยกระดาษก็ได้ แล้วแบ่งสัดส่วนเฉพาะใช้ผัด 1 จาน นำทิชชู่มาห่อ แล้วใส่ถุงไล่อากาศ หรือ ถุงซิปล็อกนำเข้าช่องฟรีซ เก็บไว้กินได้ถึง 3 เดือนเลย
และคุณลุงยังแถมวิธีการถนอมผักที่ได้ฟังมาจากลูกค้าอีกวิธีก็คือ นำใบกะเพราไปต้มในน้ำร้อน แล้วตักขึ้นมาแช่ในน้ำเย็น ปั้นเป็นก้อน บีบน้ำออก ใส่ถุงแล้วแช่ในช่องฟรีซ ก็เก็บไว้กินช่วงฤดูหนาวได้เช่นกันค่ะ
การปลูกผักนอกจากจะได้เงินแล้ว คุณลุง คุณป้ายังได้อะไร?
คุณป้าเล่าให้พวกเราฟังว่า การปลูกผักนอกจากจะได้เงินแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นก็คือ ความสุขที่ได้เห็นคนซื้อผักไปแล้วมีความสุข “เมื่อเรานำผักไปขาย หรือนำไปให้คนอื่น แล้วมีคนบอกว่า ผักสวยนะ คนกินชอบใจบอกอร่อย คนที่ได้รับผักไปแล้วเค้ามีความสุข คุณป้าก็มีความสุขไปด้วย” แม้บางคนที่ลำบากไม่มีเงินมากพอที่จะมาซื้อผัก (ด้วยค่าครองชีพที่สูงในประเทศญี่ปุ่น) คุณลุง คุณป้า ก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันผักให้ไปทำกิน ความมีน้ำใจที่ส่งผ่านให้คนที่กำลังลำบาก เป็นการให้ที่มีความสุขที่สุด คุณลุงกล่าว และหลังจากที่คนได้รับผักไปแล้ว ได้นำไปทำให้คนที่บ้านกิน แล้วกลับมาขอบคุณคุณลุง คุณป้า ว่าผักอร่อยมาก ๆ เลย ผักที่คุณลุงให้มา ได้เอาไปทำให้ทุกคนในบ้านได้กินด้วยนะ ได้ยินแค่นี้ผู้ให้อย่างคุณลุง คุณป้า ก็มีความสุขแล้ว
เวลาที่ท้อ บอกกับตัวเองว่าอย่างไร?
คุณป้าเล่าให้ฟังว่า เวลาที่เหนื่อย และท้อก็มีแว่บเข้ามาในความคิดเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่รู้สึกอย่างนั้น มักจะบอกกับตัวเองเสมอว่า เราจะท้อทำไม ไปดูคนอื่นที่เค้าลำบากกว่าเราสิ เค้าเหนื่อยกว่าเราเยอะ เรามีงานทำ เราไปขายของได้เราได้เงินนะ เราสบายกว่าเค้าเป็นร้อยเท่า พันเท่า อย่าไปท้อ สู้ ๆ สิ คิดแบบนี้ก็จะมีกำลังใจ
คุณลุงเล่าให้ฟังว่า เคยมีครั้งหนึ่งที่ไม่สบายแล้วนอนอยู่ ได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าบอกว่าวันนี้จะมาขายไหม รออยู่นะ ถ้ามาไหวก็มานะ คุณลุงได้ยินแบบนี้ก็มีกำลังใจ รู้ว่ามีคนรอคุณลุงอยู่ ก็รีบลุกขึ้นอาบน้ำ กินยา แล้วขับรถไปขายผักเหมือนเดิม แค่คิดว่ามีคนรอเราอยู่ก็มีกำลังใจแล้ว และอีกแรงบันดาลใจหนึ่งก็คือ การทำงานไปเรื่อย ๆ อย่าไปคิด อย่าไปหวังว่าจะต้องได้เงินเท่านั้น เท่านี้ แต่ขอให้ทำต่อ ๆ ไปอย่าหยุด มันยากหน่อยในช่วงแรก ๆ แต่พอทำไปได้สักพักแล้ว เราก็จะไม่เหนื่อยนัก เหมือนกับการเติมน้ำตุ่มแรก มันจะเหนื่อยหน่อย พอตุ่มแรกเต็มแล้ว ตุ่มต่อ ๆ ไปก็จะง่ายเอง ขอเพียงแค่อย่าหยุดทำเป็นพอ
ด้วยความขยัน และมุมานะของคุณลุง ก็มีหนึ่งสิ่งที่อยากจะทำ และสร้างความภูมิใจให้ตนเองก็คือ การสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทย การนำผักไทย การปลูกผักไทยโดยคนไทยให้คนญี่ปุ่นรู้จักอย่างเช่นทุกวันนี้ คุณลุงบอกว่าแม้ในชีวิตนี้แม้จะไม่ร่ำรวย แต่แค่ได้สร้างชื่อให้คนไทยเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นก็ภูมิใจแล้ว
เมนูจากผักที่ได้จากไร่ศตพล แม้หน้าตาอาจจะดูไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าทำด้วยใจ ใส่ใจลงไปทั้งคนปลูกผัก และคนทำอาหาร แค่นี้ถือว่าเป็นจานที่อร่อย อิ่มใจ ได้เลยทีเดียวค่ะ คะน้าหมูกรอบ และ ผัดกะเพราหมูกรอบ พริก ผัดกะเพรา และ คะน้า จากไร่ศตพล ..อร่อยจริง ๆ ค่ะ คอนเฟิร์ม
หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะสนุก ได้แรงบันดาลใจ และสาระเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณลุง คุณป้าได้นำเรื่องราวมาแชร์เล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ทำไร่ศตพลมาตั้งแต่ปี 2010 ชีวิตเริ่มต้นจาก ศูนย์ ประกอบกับความขยัน ความพยายาม อดทน ไม้ย่อท้อและความมีน้ำใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ของคุณลุง คุณป้า จนทำให้มาถึงทุกวันนี้
วันนี้พวกเรา 2 คนก็ต้องขอบคุณคุณลุง คุณป้ามาก ๆ ที่สละเวลาพาพวกเราไปเที่ยวชมสวน และยังได้ผักสด ๆ จากไร่ศตพลกลับมาทำอาหารทานที่บ้านพร้อมเคล็ดลับความอร่อย ก็คือ “การใส่ใจ” ที่คุณลุงคุณป้าบอกว่า ต่อให้ฝีมือทำอาหารจะแย่สักแค่ไหน แค่เพียง “มีความใส่ใจ” ไม่ว่าจะทำอะไรต้องออกมาดีอย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้หมดหวัง และคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ขอให้สู้ต่อไป มันจะยากแค่ตอนเริ่มต้น แต่พอเราเริ่มปรับตัวได้แล้ว ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเอง ขอเพียงแค่ อย่าหยุด ทำต่อ ๆ ไป ดั่งที่คุณลุง คุณป้าบอกนะคะ
คิดถึงผักไทย คิดถึงไร่ศตพล
พิกัดจาก Google map:
ติดตามพวกเราได้ที่
Facebook Youtube Instagram Twitter
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.